21 ตุลาคม 2550

คนนาคอกันเอง


เมืองอุบลราชธานี เป็นเมืองเก่าแก่มีอายุมากกว่า 200 ปี
.....เมื่อปีพุทธศักราช 2228 นั้น ได้เกิดวิกฤติทางการเมืองในนครเชียงรุ้ง เนื่องจากจีนฮ่อธงขาวยกกำลังปล้นเมือง เจ้านครเชียงรุ้ง ได้แก่ เจ้าอินทกุมาร เจ้านางจันทกุมารี และเจ้าปางคำอพยพไพร่พลมาขอพึ่งพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช แห่งเวียงจันท์ ซึ่งเป็นพระประยูรญาติฝ่ายมารดาได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี โปรดให้นำไพร่พลไปตั้งที่เมืองหนองบัวลุ่มภู (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดนี้พึ่งตั้งใหม่ครับ ถ้านึกไม่ออกว่าอยู่ตรงไหน ก็ให้ดูแถวๆ อุดรฯ ขอนแก่น ครับ) ตั้งชื่อว่า "นครเขื่อนขันธ์ กาบแก้วบัวบาน" ต่อมาพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ให้เจ้าปางคำเสกสมรสกับพระราชนัดดา ได้โอรส คือ เจ้าพระตา เจ้าพระวอ สองท่านนี้จะมีความสำคัญต่อเมืองอุบล และเมื่อปีพุทธศักราช 2314 ได้เกิดสงครามแย่งชิงอำนาจระหว่างเวียงจันท์ กับเมืองหนองบัวลุ่มภู โดยที่เจ้าสิริบุญสาร เจ้าแผ่นดินเวียงจันท์ขอเอาบุตร ธิดา เจ้าพระตา เจ้าพระวอ ไปเป็นนางห้ามและนางสนม แต่เจ้าพระตา เจ้าพระวอไม่ให้ เมื่อไม่ได้ดังพระทัย เจ้าสิริบุญสารจึงให้กองทัพมาตีเมืองหนองบัวลุ่มภู เจ้าพระตา เจ้าพระวอ ยกกองทัพออกต่อสู้เป็นสามารถ กองทัพเวียงจันท์ต้องพ่ายกลับไปเสมอ การรบครั้งนี้กินเวลาถึง 3 ปี ไม่แพ้ไม่ชนะกัน เจ้าสิริบุญสารเจ็บใจ จึงส่งทูตไปขอเอากองทัพพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ให้มาช่วยตีเมืองหนองบัวลุ่มภู แล้วจะยอมเป็นเมืองขึ้นของพม่า
ฝ่ายเจ้าพม่าที่เมืองเชียงใหม่ สนใจข้อเสนอ จึงให้ ม่องระแง คุมกองทัพมาช่วยเจ้าสิริบุญสาร ฝ่ายเจ้าพระตาทราบข่าวศึก เห็นเหลือกำลังที่จะสู้กับข้าศึก คือคิดว่าอาจจะแพ้ได้ จึงให้เจ้าคำโส เจ้าคำขุย เจ้าก่ำ เจ้าคำสิงห์ พาไพร่พล คนชรา เด็กและผู้หญิง พร้อมพระสงฆ์ อพยพไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้หาที่สร้างบ้านสร้างเมือง ทำไร่ทำนาหาอาหารไว้คอย หากแพ้สงครามก็จะได้ตามไปอยู่ด้วย แล้วก็แพ้จริงๆ ครับ เจ้าบุตรทั้งหลายจึงพาไพร่พลอพยพไปตามที่เจ้าพระตาสั่ง ได้มาตั้งบ้านสิงห์โคก บ้านสิงห์ท่าไว้คอย (ปัจจุบันคือจังหวัดยโสธร)
.....เจ้าพระตามีบุตร ชายหญิงรวม 8 คน คือ นางอูสา นางสีดา เจ้าพระวอ นางแสนสีชาด นางแพงแสน เจ้าคำผง เจ้าทิตพรหม และนางเหมือนตา เมื่อเจ้าพระตาออกสู้รบและถึงแก่ความตาย เจ้าพระวอ ผู้เป็นบุตรชายคนโตได้เป็นหัวหน้ากลุ่มแทน เห็นว่าจะต่อสู้ต่อไปไม่ได้ จึงหลบหนีออกจากเมือง ผ่านรับเสบียงอาหารจากบ้านสิงห์โคก สิงห์ท่า แล้วผ่านลงไปอยู่ "ดอนมดแดง" โดยของพึ่งพระเจ้าไชยกุมารองค์หลวง แห่งนครจำปาศักดิ์ ต่อมาเจ้าไชยกุมารองค์หลวง ขอให้เจ้าพระวอไปอยู่ที่ค่ายบ้านดู่ บ้านแก เพื่อจะได้พึ่งพากันยามคับขัน เจ้าพระวอยินยอมไปอยู่ โดยที่ดอนมดแดงให้แสนเทพและแสนนาม คุมไพร่พลอยู่รักษาแทน เจ้าสิริบุญสารทราบข่าว ความแค้นยังไม่หาย ได้ให้อัคฮาด หำทอง และพญาสุโพ ยกกองทัพมาตีค่ายบ้านดู่ บ้านแก เจ้าพระวอสู้ไม่ได้ เสียชีวิตในสนามรบ เจ้าคำผงผู้น้องได้ขึ้นเป็นหัวหน้ากลุ่มแทน เจ้าคำผงก็คิดว่าสู้ไม่ได้แน่ จึงส่งทหารนำใบบอกลงไปเมืองนครราชสีมาและกรุงธนบุรี เพื่อขอพึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรี

..... พระเจ้ากรุงธนบุรีทราบเรื่อง ได้มอบหมายให้เจ้าพระยาจักรี (ทองด้วง) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกกองทัพไปช่วย กองทัพพญาสุโพเห็นว่าจะสู้ไม่ได้ จึงถอยทัพกลับเวียงจันท์ เจ้าพระยาทั้งสองยกทัพติดตามไปตามลำน้ำโขง รบกับเวียงจันท์อยู่ถึงสี่เดือน ในที่สุดเวียงจันท์ก็แตก เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ ได้คุมตัวเจ้าเมืองเวียงจันท์ลงไปกรุงธนบุรี พร้อมได้อัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบางเจ้าไปด้วย ส่วนเจ้าคำผงย้ายกลับไปอยู่ดอนมดแดงที่เดิม
..... ปีพุทธศักราช 2319 เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่ดอนมดแดง เจ้าคำผงจึงได้อพยพไพร่พลไปอยู่ที่ดอนไกล้ห้วยแจละแม (บริเวณฯ บ้านท่าบ่อในปัจจุบัน) รอน้ำลดแล้วจึงค่อยหาที่ตั้งเมือง ปีพุทธศักราช 2320 เจ้าคำผงอพยพไพร่พล มาสร้างบ้านเมืองที่ ดงอู่ผึ้ง ริมฝั่งแม่น้ำมูล (ตัวจังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน)
..... ปีพุทธศักราช 2322 พระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี เชิญท้องตราขึ้นมาตั้งให้เป็นเมืองอุบลราชธานี ให้ เจ้าคำผงเป็นเจ้าเมืองที่พระประทุมราชวงศา ให้เจ้าทิตพรหมเป็นพระอุปฮาด ให้เจ้าก่ำเป็นราชวงศ์ ให้เจ้าสุดตาเป็นราชบุตร เป็นคณะอาชญาสี่ชุดแรกของเมืองอุบล
.....ปีพุทธศักราช 2324 เมืองเขมรเกิดความไม่สงบ พระเจ้ากรุงธนบุรี ขอกำลังจากเมืองอุบลไปสมทบกองทัพหลวง พระประทุมราชวงศา และราชวงศ์เป็นผู้คุมกำลังไปช่วย จนถึงปีพุทธศักราช2325 เกิกดจราจลที่กรุงธนบุรี กองทัพหลวงและกองทัพจากเมืองอุบลจึงได้แยกกันยกทัพกลับ ผ่านไปอีกสิบปี ในปีพุทธศักราช 2334 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เกิดกบถอ้ายเชียงแก้วเขาโอง ได้ยกกำลังมาตีเมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้าฝ่ายหน้าผู้น้องพระประทุมราชวงศาได้ยกกำลังไปรบ จับอ้ายเชียงแก้วได้ และประหารชีวิตที่บริเวณแก่งตะนะ
.....ปีพุทธศักราช 2335 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเมืองอุบลขึ้นเป็นเมืองประเทศราช โปรดเกล้าฯ ให้พระประทุมราชวงศาเป็นพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (คำผง) เจ้าครองเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย ประเทศราช พระราชทานพระสุพรรณบัตร และเครื่องยศเจ้าเมืองประเทศราช ให้ทำพิธีสบถสาบานถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ต่อหน้าพระพักตร์เสกให้ ณ วันจันทร์ เดือน 8 แรม 13 ค่ำ จุลศักร 1154 ปีชวด จัตวาศก ซึ่งตรงกับวันที่ 16 กรกฎาคม 2335 ถือเป็นเจ้าเมืองคนแรกของอุบลราชธานี จนถึงปี 2338 พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (ทิตพรหม) น้องชายพระประทุม จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานีต่อมา รวมเจ้าเมืองอุบลราชธานี ที่พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง มีจำนวนทั้งสิ้น 4 ท่าน


ลักษณะและชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรลุ่มแม่น้ำโขง และ ลักษณะการแต่งกายของสตรีชั้นสูง

ลักษณะการตั้งบ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำ รถม้าจังหวัดอุบลราชธานี และอาชีพประมงบริเวณลุ่มแม่น้ำ


ตัวละครในสมัยโบราณ ลาวกระทบไม้ วงโปงรางในสมัยโบราณ





.....บรรพชนชาวอุบลราชธานี มีการแสดงพื้นบ้านอยู่ 3 ลักษณะ คือ ดนตรี การขับร้อง ฟ้อนรำ และการแสดงโดยใช้หุ่น สำหรับดนตรีในอดีตมีทั้งการบรรเลงล้วนๆ และการบรรเลงประกอบการร้องและการฟ้อนรำ เครื่องดนตรีทั้งหลาย แคน นับว่าได้รับความนิยมมากที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นเพราะแคนต้องใช้ประกอบการรำต่างๆ อุบลราชธานีจึงได้ชื่อว่าเป็นถิ่น "ดอกคูณเสียงแคน"
.....ในระยะต่อมามีการนำโปงลางและไหมาเล่นประกอบในวงดนตรีพื้นบ้าน เรียกว่า วงโปงลาง และนำเครื่องดนตรีสากลมาประกอบการลำและการแสดงอื่นๆ ในปัจจุบันดนตรีและศิลปะการแสดงของจังหวัดอุบลราชธานีอาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภทคือ
*หมอลำหรือวงหมอลำ (ลำหมู่ - ลำเพลิน - ลำซิ่ง)
*วงโปงลาง
*วงดนตรีที่ใช้เครื่องดนตรีสากลเล่นประกอบพิณ (เพชรพิณทอง)
.....ส่วนการแสดงโดยใช้หุ่นซึ่งได้แก่หนังปราโมทัย ในปัจจุบันยังมีการแสดงอยู่บ้าง แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก
***หมอลำ ***

.....การลำ นับเป็นการแสดงพื้นบ้านที่มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องและได้รับความนิยมมาทุกยุคทุกสมัย เริ่มจากการลำพื้น ซึ่งได้แก่การนำเนื้อหาของนิทานพื้นบ้าน เช่น การะเกด สินไซร (สังข์ศิลป์ชัย) นางแตงอ่อน มาลำโดยใช้หมอลำ 1 คนและหมอแคน 1 คน ผู้ลำสมมุติตนเป็นตัวละครทุกตัวในเรื่องและลำตลอดคืน การลำพื้นนับเป็นต้นกำเนิดของการลำทุกประเภท ต่อมาลำพื้นได้วิวัฒนาการมาเป็นการลำคู่ ซึ่งได้แก่การลำ 2 คน ชายกับชาย หรือชายกับหญิง

(จนประมาณปี พ.ศ. 2495 การลำระหว่างชายกับชายจึงเลิกไป) หมอลำคู่ยังแตกแขนงออกเป็นลำซิงชู้ ซึ่งประกอบด้วยผู้ลำชาย 2 หญิง 1 หรือหญิง 2 ชาย 1

เพื่อแย่งชิงชายหรือหญิงที่มีอยู่เพียงคนเดียว

.....หมอลำคู่ที่มีชื่อเสียงชาวอุบลราชธานีมีมากมายจนเมืองอุบลได้ชื่อว่าเป็น "เมืองหมอลำ" หมอลำที่มีชื่อเสียงในอดีตนับจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้แก่ หมอลำคูณ (ชาย) และหมอลำจอมศรี (หญิง) เป็นหมอลำคู่แรกที่ได้บันทึกเสียงลงแผ่นเสียงเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และได้เผยแพร่ออกอากาศจนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ปัจจุบันหมอลำทั้งคู่ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว

(ซึ่งเรามีตัวอย่างกลอนลำของท่านทั้งสองที่นี่ )



.....หมอลำทองมาก จันทะลือ (ชาย) ฉายา หมอลำถูทา เดิมมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น แต่มาประกอบอาชีพเป็นหมอลำและผู้แต่งกลอนลำจนมีชื่อเสียง ได้มาตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี หมอลำทองมากได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปฏิภาณมีไหวพริบในการลำ สามารถลำโต้ตอบแบบกลอนสดชนิด
"ลำแตก" จนได้รับยกย่องให้เป็น "ศิลปินแห่งชาติ" เมื่อปี พ.ศ. 2529 นับเป็นหมอลำคนแรกที่ได้รับเกียรติอันสูงสุดนี้ เคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ ส.ส. อุบลราชธานี 1 สมัย ปัจจุบันได้ตั้งสมาคมหมอลำถูทาบริการและรับงานแสดง ตลอดจนช่วยเหลืองานราชการอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในงานรณรงค์ด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จึงนับได้ว่าเป็นบุคคลที่สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ ด้วยการนำเอาศิลปพื้นบ้านมารับใช้สังคม
.....หมอลำเคน ดาเหลา (ชาย) ฉายา "เคนฮุด" เป็นชาวอุบลราชธานี ไปมีชื่อเสียงโด่งดังที่จังหวัดขอนแก่น ที่ได้ฉายาว่า "ฮุด" ก็เพราะว่าในเวลาลำจะสามารถดันไปได้แบบสู้ไม่ถอย หมอลำเคนมีน้ำเสียงห้าว ไพเราะ และรูปร่างหน้าตาดี ทั้งยังสามารถแต่งกลอนลำได้ด้วย ลีลาการฟ้อนรำก็สวยงามเป็นที่ประทับใจ ในปี พ.ศ. 2534 จึงได้รับการยกย่องให้เป็น "ศิลปินแห่งชาติ" อีกคนหนึ่ง นับเป็นหมอลำคนที่ 2 ที่ได้รับเกียรติดังกล่าว ปัจจุบันได้ตั้งโรงเรียนสอนการลำให้กับเยาวชนที่สนใจอยากจะเป็นศิลปินด้านหมอลำ เพื่อสืบสานวัฒนธรรมอีสานให้ยั่งยืนตลอดไป รวมทั้งแต่งกลอนลำให้กับหมอลำรุ่นใหม่ๆ รวบรวมคณะหมอลำต่างๆ เข้ามาในสังกัดเพื่อช่วยเหลือการรับงานลำทั่วประเทศ

.....นางฉวีวรรณ พันธุ เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 ที่ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น ราชินีหมอลำ ที่มีความสามารถโดดเด่น มีไหวพริบปฏิภาณด้านหมอลำที่เฉียบแหลมยิ่งคนหนึ่ง โดยได้รับการฝึกฝนเรื่องหมอลำจากบิดา ญาติ และหมอลำที่มีชื่อเสียงโด่งดังในอดีตหลายท่าน ซึ่งความจัดเจนเรื่องหมดลำที่ฝึกฝนมาตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้เป็นหมอลำที่มีความสามารถสูงทั้งด้านการแต่ง กลอนลำ การคิดท่วงทำนองหมอลำกลอน เขียนกลอดลำ ประดิษฐ์ท่าลำและบทร้องชุดแม่อีสาน 48 ท่า ประกอบกับบุคคลที่มีน้ำเสียงไพเราะ มีพลังทำให้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเพชรน้ำหนึ่งของแดนอีสานและได้รับการกล่าวขานด้วยความชื่นชมจากประชาชนว่าเป็นราชินีหมอลำนางฉวีวรรณ พันธุ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปีพุทธศักราช 2536



.....นางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย เกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2475 ที่จังหวัดอุบลราชธานี สนใจฝึกแสดงหมอลำมาตั้งแต่อายุ 12 ปี กับหมอลำทองมี สายพิณ หมอลำสุบรรณ พละสูรย์ เป็นผู้ที่มีความจำและไหวพริบปฏิภาณสูง ฝึกลำอยู่เพียง 2 ปี ก็สามารถรับงานแสดงเป็นของตนเองได้ และเนื่องจากหมอลำที่มีสำนวนคมคาย สามารถโต้ตอบกับหมอลำฝ่ายชายได้อย่างเฉลียวฉลาด เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม ทำให้มีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ได้ชื่อว่าเป็นหมอลำที่มีคารมกล้า โต้ตอบกับคู่ลำด้วยไหวพริบที่ฉับไว กลอนลำแต่ละกลอนมีสาระเชิงปรัชญาชีวิต ให้คติสอนใจที่แยบคาย ทำให้เป็นหมอลำหญิงคนเดียวเมื่อปี พ.ศ. 2498 ที่ได้รับการบันทึกแผ่นเสียงมากที่สุด มีงานแสดงทั้งกลางวันกลางคืน เป็นศิลปินของประชาชนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นราชานีหมอลำ เคยได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จังหวัดขอนแก่น พ.ศ. 2533 ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) พ.ศ. 2537 จากคณกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาตินางบุญเพ็ง ไฝผิวชัย จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปีพุทธศักราช 2540 .....หมอลำคำปุ่น ฟุ้งสุข (หญิง) เป็นหมอลำอาวุโสอีกคนหนึ่งที่เคยมีชื่อเสียงโด่งดังในอดีต เคยชนะการประกวดหมอลำในระดับต่างๆ หลายรางวัลเช่น เคยได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดหมอลำทั่วประเทศฝ่ายหญิง พ.ศ. 2502 ณ เวทีมวยลุมพินีกรุงเทพฯ หมอลำคำปุ่นเป็นหมอลำสตรีที่สามารถแต่งกลอนลำได้ดี ปัจจุบันแม้จะไม่ค่อยปรากฏตัวแต่ก็ได้แต่งกลอนลำให้ลูกศิษย์อยู่อย่างสม่ำเสมอ
.....การลำได้วิวัฒนาการต่อไปอีกจากการลำ 2-3 คน กลายมาเป็นการลำหลายๆ คน คือประมาณ 10 คนขึ้นไป เรียกว่าการลำหมู่ เป็นการลำตามเรื่องราวจากนิทานพื้นบ้านหรือนิทานชาดก ผู้แสดงแต่ละคนจะแสดงบทบาทตามตัวละครในท้องเรื่องแตกต่างกันไป ลีลาการลำก็มีหลายแบบ อาทิเช่น ลำเรื่องต่อกลอน ลำเพลิน เป็นต้น คณะหมอลำหมู่ที่มีชื่อเสียงมากของจังหวัดอุบลราชธานี คือ คณะรังสิมันต์ (ระหว่างปี พ.ศ. 2506-2510) พระเอกและนางเอกที่มีชื่อเสียงของคณะคือ หมอลำทองคำ เพ็งดี และ หมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน ซึ่งหมอลำคณะนี้มีการนำเครื่องดนตรีสากลบางชิ้น เช่น กีตาร์ ออร์แกน มาบรรเลงประกอบเพื่อให้เกิดความครึกครื้นยิ่งขึ้น จวบจนปัจจุบันเครื่องดนตรีสากลเหล่านี้ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในวง และวงหมอลำหมู่ได้กลายสภาพมาเป็นกึ่งวงดนตรีลูกทุ่ง อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงตอนที่จะต้องลำ แคนก็ยังต้องเป่านำเพื่อให้ได้บรรยากาศของการลำที่แท้จริง


..... หมอลำทองคำ เพ็งดี มีฉายาว่า นกกาเหว่า เพราะเป็นผู้มีน้ำเสียงไพเราะเป็นหนึ่งในการลำล่องในสมัยนั้น นอกจากนั้นยังมีความสามารถในการแต่งกลอนลำได้อีกด้วย ลำล่องที่สร้างชื่อเสียงให้แก่หมอลำทองคำเป็นอย่างมากคือ ลำล่องเรื่องจำปาสี่ต้น ส่วนวรรณ ดำหมอลำฉวีเนิน เป็นผู้มีน้ำเสียงใสกังวาล จึงมีผู้เปรียบว่า ประดุจเสียงทอง ต่อมาคณะหมอลำรังสิมันต์ได้นางเอกอีกคนหนึ่งคือ หมอลำบานเย็น รากแก่น ซึ่งมีความสวยเป็นที่เลื่องลือ กอร์ปกับลีลาการฟ้อนประกอบการรำของเธอก็มีลีลาอ่อนช้อย สวยงาม จึงได้รับความนิยมมาก ซึ่งต่อมาได้แยกวงมาตั้งคณะใช้ชื่อของตนเอง คณะรังสิมันต์ได้ยุบวงไปเมื่อ พ.ศ. 2512 หมอลำทองคำประกอบอาชีพส่วนตัวและรับงานเป็นครั้งคราวคู่กับหมอลำฉวีวรรณ (ปัจจุบัน หมอลำฉวีวรรณ ได้ไปช่วยถ่ายทอดศิลปแห่งการลำและฟ้อนรำที่ วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด)
.....หมอลำบานเย็น รากแก่น เป็นชาวอุบลราชธานีโดยกำเนิด หลังจากแยกออกมาจากคณะรังสิมันต์แล้วได้ตั้งวงรับงานแสดง มีผลงานบันทึกแผ่นเสียงมากมาย ในที่สุดก็ยุบวงไป ปัจจุบันยังประกอบอาชีพด้านนี้อยู่ ณ กรุงเทพมหานคร และได้บันทึกเสียงเพลงลูกทุ่งอีสานออกมาเผยแพร่อีกหลายชุด ได้เสียสละเวลาเดินทางมาให้ความรู้แก่ลูกศิษย์ที่ สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี เพื่อสืบสานมรดกอีสานอยู่มิได้ขาด ..... หมอลำสมาน หงษา อดีตเคยเป็นบุรุษไปรษณีย์แต่ได้ลาออกมาประกอบอาชีพหมอลำ เคยประกวดหมอลำได้รับรางวัลชนะเลิศหลายรางวัล หมอลำสมานตั้งคณะของตนเองชื่อว่า คณะเพชรเสียงทอง โดยแสดงในแนวชาดก ตลกสะท้อนภาพสังคมในปัจจุบัน ได้รับความนิยมเป็นอย่างดี เช่นเรื่อง "แม่เฒ่ามักลูกเขย" ปัจจุบันยังคงรับงานแสดงและดัดแปลงการลำเอาใจตลาดโดยการลำซิ่งบ้างเป็นบางโอกาส
......หมอลำคู่ขวัญในอดีตอีกคู่หนึ่งคือ หมอลำป. ฉลาดน้อย (ชาย) และ หมอลำอังคนางค์ คุณไชย (หญิง) ร่วมกันก่อตั้งคณะอุบลพัฒนา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2511 แล้วได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดหมอลำหมู่ทางสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ ช่อง 5 จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2515 ผลงานที่สร้างชื่อเสียงมากคือ การบันทึกแผ่นเสียงลำเรื่องต่อกลอนเรื่อง นกกระยางขาว ต่อมา หมอลำอังคนางค์ได้อัดแผ่นเสียงเพลงแนวลูกทุ่งที่ได้รับความนิยมหลายเพลง ได้แก่ สาวอุบลรอรัก พี่จ๋าหลับตาไว้ และ อีสานลำเพลิน ต่อมาทั้งคู่แยกวงไปตั้งคณะใหม่ โดยอังคนางค์ตั้งคณะหมอลำชื่อ คณะอุบลพัฒนายุคใหม่ ส่วน ป.ฉลาดน้อย ได้ตั้งคณะเพชรอุบล รับงานการแสดงเรื่อยมา แต่ทั้งคู่ก็ยังคงมีผลงานร่วมกันเป็นครั้งคราวโดยการนำเอานิทานและนิยายปัจจุบันที่เป็นที่นิยมมาบันทึกเสียงเป็นลำเรื่องต่อกลอน เช่น คู่กรรม แม่เบี้ย เป็นต้น

***วงโปงลาง ***

.....วงโปงลาง เป็นวงดนตรีซึ่งใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านบรรเลง เครื่องดนตรีเด่นๆ ได้แก่ โปงลาง แคน พิณ โหวด กลอง ไห เป็นต้น นิยมบรรเลงเพลงลายพื้นบ้าน เช่น ลายนกไซบินข้ามทุ่ง แมงภู่ตอมดอก แม่ฮ้างกล่อมลูก เป็นต้น นอกจากนั้นยังบรรเลงประกอบการแสดงต่างๆ เช่น ลำตังหวาย และบรรเลงเพลงทั่วไปเช่น เพลงลูกทุ่ง เพลงไทยสากล
.....วงโปงลางในจังหวัดอุบลราชธานีมีหลายวง ส่วนใหญ่เป็นวงของโรงเรียนทั้งระดับประถมและมัธยม และสถาบันการศึกษาอื่น ที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายคือ วงโปงลางของวิทยาลัยครูอุบลราชธานี ซึ่งตั้งเมื่อ พ.ศ. 2524 โดยภาควิชานาฏศิลป์และภาควิชาดนตรี มีผลงานเผยแพร่ไปตามจังหวัดต่างๆ ทั้งในนามของวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และกรมการฝึกหัดครู ได้รับเชิญให้ไปแสดงในงานสัปดาห์แผ่นดินธรรมแผ่นดินทองและอีสานเทรดแฟร์ทุกปี นอกจากนี้ยังได้รับเชิญไปแสดงต่างประเทศมาแล้วครั้ง

.....ความโดดเด่นของวงโปงลางคณะนี้ได้แก่ ท่ารำที่สวยงามและหลากหลาย เครื่องแต่งกายที่มีสีสันสะดุดตาเป็นเอกลักษณ์ ได้ฟื้นฟูและประดิษฐ์ท่ารำต่างๆ จากประเพณีและวัฒนธรรมของอีสาน เช่น รำคูณลาน รำดอกบัว เซิ้งขอฝน และการรำที่เป็นเอกลักษณ์ของวง คือ รำตังหวาย ซึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2534 วงโปงลางวิทยาลัยครูอุบลราชธานีได้รับการยกย่องจากสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทยให้ได้รับรางวัลสังข์เงิน นับเป็นวงโปงลางวงแรกที่ได้รับเกียรตินี้
......นายณรงค์ พงษ์ภาพ หรือที่รู้จักกันดีในนามของ นพดล ดวงพร เป็นหัวหน้าวงดนตรีเพชรพิณทอง ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2514 นพดล ดวงพร เป็นลูกศิษย์และเคยร่วมงานในวงดนตรีของครูมงคล อมาตยกุล (วงดนตรีจุฬารัตน์) อยู่หลายปีได้รับประสบการณ์มากมาย ด้วยความที่อยากสร้างเอกลักษณ์ของตนเองและคนอีสานจึงได้แยกตัวออกมาตั้งวงเพชรพิณทอง โดยนำเอาเครื่องดนตรีพื้นบ้านคือ พิณ มาร่วมบรรเลงกับเครื่องดนตรีสากล จึงได้ชื่อคณะว่า เพชรพิณทอง ซึ่งหมอพิณคู่ใจที่สร้างตำนานมาด้วยกันคือ ทองใส ทับถนน นอกจากนั้น จุดเด่นของวงเพชรพิณทองอยู่ที่ ทีมพิธีกร ที่ใช้ภาษาท้องถิ่นอีสานเป็นหลักในการนำเสนอเนื้อหา รีวิวประกอบเพลง เป็นทีมตลกที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ประกอบด้วย นพดล ดวงพร ลุงแนบ หนิงหน่อง ใหญ่ หน้ายาน และแท็กซี่ เป็นต้น

.....นอกเหนือจากการร้องเพลงและหางเครื่องอันตระการตาจำนวนมากแล้ว วงเพชรพิณทองยังสามารถออกเทปตลกชุดต่างๆ หลายชุดที่โด่งดังจำหน่ายเช่น หนิงหน่องย่านเมีย บวชลุงแนบ สามใบเถา เป็นต้น เกียรติคุณที่ได้รับได้แก่ การมีโอกาสแสดงหน้าพระที่นั่งที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2514 และได้รับยกย่องให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ. 2532 นอกจากบุคคลที่กล่าวมาแล้ว ยังมีหมอลำอีกเป็นจำนวนมากที่ยังมีชีวิตอยู่และได้รับความนิยมทั้งสามารถแต่งกลอนลำได้ อาทิ หมอลำคำเก่ง บัวใหญ่ หมอลำทองลา สายแวว หมอลำทองสุ่น บุญเติม หมอลำบุญมา รักษาศรี หมอลำสุพรรณ ติระนันท์ หมอลำกองมี คำภูทา หมอลำเหล็กกล้า ขันชาลี เป็นต้น ขณะนี้เท่าที่รวบรวมรายชื่อได้มีประมาณ 300 คน (สำหรับคณะหมอลำหมู่ถือว่า 1 คณะเท่ากับ 1 คน)
......ส่วนผู้สร้างผลงานเพลงนอกเหนือจาก เพชรพิณทอง ของนพดล ดวงพร และบานเย็น รากแก่นแล้ว ยังมี เทพพร เพชรอุบล เจ้าของเพลง อีสานบ้านเฮา อันโด่งดัง ไกรสร เรืองศรี สนธิ สมมาตร สลา คุณวุฒิ ต่าย อรทัย เอกพล มนต์ตระการและอีกหลายๆ คน การที่ดนตรีและการแสดงพื้นบ้านของชาวอุบลราชธานีได้มีวิวัฒนาการมาอย่างไม่ขาดตอน ทำให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นไปตามความนิยมของยุคสมัย แต่เป็นที่น่าสังเกตประการหนึ่งว่า ไม่ว่าจะเป็นหมอลำ วงโปงลางหรือวงดนตรีเพชรพิณทอง ล้วนได้รับความนิยมและกล่าวขวัญถึงในระดับประเทศ และจะยังคงมีวิวัฒนาการสืบไปคู่กับชาวอุบลราชธานีและเป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสานชั่วนิรันดร์

***หมอลำ... ศิลปพื้นบ้านที่ไม่มีวันตายไปจากลมหายใจของชาวอีสาน... ***
ที่มา : วารสาร "อุบลเมืองนักปราชญ์"

ฉบับปฐมฤกษ์ ธันวาคม 2544

งานประเพณี
***ฮีตสิบสอง***
..... ฮีตสิบสอง หมายถึงประเพณีที่จะต้องปฏิบัติทั้ง 12 เดือน ในแต่ละปี "ฮีต" มาจากคำว่า จารีต ถือเป็นจรรยาของสังคม ถ้าฝ่าฝืน มีความผิดเรียกว่า ผิดฮีต หมายถึง ผิดจารีต ฮีตสิบสอง สรุปได้ดังนี้

1. เดือนอ้าย (เดือนเจียง) บุญเข้ากรรม เป็นเดือนที่พระสงฆ์เข้ากรรม (ปริวาสกรรม) เพื่อให้พระสงฆ์ผู้กระทำผิดได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตน และมุ่งประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป

2. เดือนยี่ บุญคูณลาน นิมนต์พระสวดมนต์เย็นเพื่อเป็นมงคลแก่ข้าวเปลือก แล้วทำพิธีสู่ขวัญข้าว นอกจากนี้ ชาวบ้านเตรียมเก็บสะสมฟืนไว้หุงต้มที่บ้าน

3. เดือนสาม ทำบุญข้าวจี่และบุญมาฆบูชา การทำบุญข้าวจี่เริ่มในตอนเช้า ใช้ข้าวเหนียวปั้นใส่น้ำอ้อย นำไปจี่แล้วชุบด้วยไข่ เมื่อสุกแล้วนำไปถวายพระ
4. เดือนสี่ ทำบุญพระเวส ฟังเทศน์มหาชาติ ให้ฟังเทศนา เรื่องพระมหาเวสสันดรชาดก ให้จบสิ้นภายในวันเดียว ก็จะพบพระศรีอริยะเมตไตย งานบุญนี้มักจะมีผู้นำของมาถวายพระ เรียกว่า "กัณฑ์หลอน" หรือถ้าเจาะจงจะถวายเฉพาะพระนักเทศน์ที่ตนนิมนต์มาก็เรียกว่า "กัณฑ์จอบ" เพราะต้องแอบซุ่มดูให้แน่เสียก่อน

5. เดือนห้า ตรุษสงกรานต์หรือบุญสรงน้ำ การสรงน้ำมีการรดน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ ผู้หลักผู้ใหญ่ กำหนดเอาวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 5 บางทีเรียกว่า บุญเดือน 5 ถือเป็นเดือนเริ่มต้นปีใหม่
6. เดือนหก ทำบุญบั้งไฟและวันวิสาขบูชา การทำบุญบั้งไฟเพื่อขอฝน เป็นงานสำคัญก่อนลงมือทำนา ส่วนการทำบุญวันวิสาขบูชา กลางวันมีการเทศน์ กลางคืนมีการเวียนเทียน
7. เดือนเจ็ด ทำบุญซำฮะ (ล้าง) หรือบุญบูชาบรรพบุรุษ มีการเซ่นสรวงหลักเมือง ปู่ตา ผีเมือง ผีตาแฮก เป็นการทำบุญเพื่อระลึกถึงผู้มีพระคุณ

8. เดือนแปด ทำบุญเข้าพรรษา เป็นประเพณีทางพุทธศาสนาโดยตรง มีการทำบุญตักบาตร ฟังธรรมเทศนาและถวายเทียนพรรษา
9. เดือนเก้า ทำบุญข้าวประดับดิน เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศแก่ญาติผู้ล่วงลับ โดยการจัดหาอาหาร หมากพลู เหล้า บุหรี่ ไปวางไว้ใต้ต้นไม้หรือที่ใดที่หนึ่ง แล้วเชิญวิญญาณของญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วมารับเอาอาหารไป
10. เดือนสิบ ทำบุญข้าวสาก (สลากภัตต์) ผู้ถวายจะเขียนชื่อของตนลงในภาชนะที่ใส่ของทาน และเขียนชื่อลงในบาตร ภิกษุสามเณรจับสลากได้ของใคร ผู้นั้นจะเข้าไปถวายของ
11. เดือนสิบเอ็ด ทำบุญออกพรรษา พระสงฆ์จะแสดงอาบัติทำการปวารณา คือ เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ พอตกกลางคืน มีการจุดประทีปดคมไฟแขวนไว้ตามต้นไม้หรือรมรั้ว

12. เดือนสิบสอง ทำบุญกฐิน เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 จนถึงวันเพ็ญเดือน 12 สำหรับประชาชนที่อยู่ริมน้ำ จะมีการแข่งเรือ (ส่วงเฮือ) ด้วย เพื่อระลึกถึงอุสุพญา

ไม่มีความคิดเห็น: